“วันๆเอาแต่เล่นเกม ไม่ทำการทำงาน” ประโยคฮิตของผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานวางมือถือหรือเครื่องเกมที่ถืออยู่เสียที เพราะหลายคนยังมองว่าการเล่นเกม คือการใช้เวลาไร้สาระ เอาเวลาไปอ่านหนังสือหรือทำงานดีกว่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็เป็นข้อเท็จจริง ทว่าเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” เท่านั้น การเล่นเกมยังมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่หลายคนที่ไม่ได้เข้ามาเล่นเกมไม่รู้ หรือมองข้ามไป ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ วันนี้ Gametonix ขอสรุป 8 ข้อดีหลักๆของการเล่นเกม ที่ไม่ได้มีแค่ไร้สาระ เปลืองเงินโดยใช่เหตุ อย่างที่คนรอบข้างหลายคนกำลังบ่น
1. กลายเป็นอาชีพสร้างรายได้
รู้หรือไม่ว่าบริษัทเกม Nexon ของญี่ปุ่นสามารถสร้างรายได้จากเกมเพียง 1 เกมได้มากกว่ารายได้หนัง Harry Potter ทั้ง 7 ภาค หรือมากกว่าหนังสตาร์วอร์เสียอีก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้คนถือโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์อย่างน้อยหนึ่งเครื่อง และเด็กในยุคใหม่ๆรู้จักการเล่นเกมก่อนจะอ่านออกเขียนได้เสียอีก ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมบริษัทที่ครอบครองเทคโนโลยีเกมทั้งหลายแหล่ถึงยังคงเติบโตแบบอัตราเร่งสูงในขณะที่บริษัทอื่นๆเริ่มถดถอยจนต้องขายกิจการไปในช่วง pandemic ไม่ว่าจะอยู่สถานการณ์ไหนก็ตามคนจะยังคงเล่นเกม
มันกลายเป็นส่วนหนึ่งชีวิตของหลายๆคน จึงเป็นเหตุผลให้หลายแห่งมีการจัดแข่งกีฬาเกมหรือ E-sport ขึ้น แบบที่เล่นแล้วได้รางวัล ได้เงิน เป็นนักแคสต์เกมที่เล่นเกมโชว์คนอื่นก็ได้เงิน หรือจะไปสายนักพัฒนาเกม เขียนโปรแกรม โค้ดดิ้ง ก็เป็นที่ต้องการอย่างมาก หรือจะไปทางสายการออกแบบ NFT ที่เกี่ยวเนื่องไปถึงการใช้เงินสกุลดิจิตัล คิดดูเอาว่าเก๋แค่ไหนที่จะบอกคนอื่นว่าฉันสร้างรายได้จากเกมนะ (แถมอาจจะเยอะกว่าเธอด้วยซ้ำนะ)
Blankos Block Party เกม Open-world NFT ที่กำลังเป็นที่นิยม
2. ฝึกภาษา
เด็กหลายคนรู้จักคำว่า “Play” ก่อนจะเขียนชื่อจริงตัวเองเป็นเสียอีก หากลูกไม่ชอบเรียนภาษาอังกฤษ ลองให้ลูกเล่นเกมสนุกๆที่มีแต่ภาษาอังกฤษเต็มไปหมดสิ นอกจากเกมจะเป็นภาษาอื่นที่ถ้าเราอยากเล่นจริงเราต้องผ่านมันไปให้ได้แล้ว หลายเกมยังมีระบบเล่นแบบ multiplayer (ผู้เล่นหลายคน) หรือ co-op (ร่วมมือกันเล่น) ซึ่งจะมีช่องทางให้สามารถสื่อสารผ่านเกมโดยการแชทหรือพูดเป็นเสียง ที่สามารถจับคู่กับชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลกได้หลายคนที่อยากเล่นเพราะสนุกจนก้าวข้ามความกลัวด้านการคุย หรือเริ่มต้นจากการฟังอ่านศัพท์แบบงูๆปลาๆแบบนี้แหละ
เช่นเดียวกับการดูภาพยนตร์หรือฟังเพลงเป็นภาษาอังกฤษ เราให้ความชอบนำการเรียนรู้ได้โดยผู้เรียนอยากเรียนรู้ด้วยตนเองด้วย
3.เล่นเกม = ฝึกสมอง
จากผลการวิจัยของ Rebecca Marcus นักจิตวิทยาเฉพาะทางด้านสติปัญญา ให้เหตุผลถึงข้อดีของเกมต่อสมองว่า
– ช่วยเพิ่มโฟกัส เพิ่มการจดจ่อ และเสริมสร้างความจำ
– ลดความเบื่อ คลายความเครียดจากการใช้ชีวิตปกติ
– คนเล่นเกมมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับความจำ/สมอง เมื่อสูงวัยขึ้นน้อยกว่าคนที่ไม่เล่นหรือเล่นน้อยกว่า
ไม่ว่าจะเป็นเกมเรียงเพชรที่ต้องหาทางเรียงให้ได้คะแนนสูง ไปจนถึงเกมยิงกันดุเดือดจะต้องวางแผนจำกัดคู่ต่อสู้ เราล้วนต้องขบคิดเพื่อให้เราชนะ คุณไม่ได้เล่นเกมเพื่อให้ไม่ผ่านด่าน หรือได้ที่สุดท้ายก็พอใจแล้วใช่ไหม ยังไม่รวมถึงการฝึกการสังเกตุ หรือการฝึกตอบสนองที่รวดเร็ว หรือฝึกความจำในบางเกมอีกด้วย
4. บางเกมคือการเปิดหน้าหนังสือ เรียนรู้การปฏิบัติจริง ต่อยอดอาชีพอื่นๆในอนาคตได้
ตัวอย่างเกม Builder Simulator ที่เราต้องบังคับเกมให้ก่อสร้างทั้งผูกเหล็ก เทปูน เดินสายไฟ วางโครงสร้างบ้านเอง หรืออย่างเกม Flight Simulator ที่จำลองการบินโดยมีปุ่มทุกอย่างเสมือนเราเป็นนักบิน (แถมได้เห็นภูมิประเทศแต่ละประเทศโดยไม่ต้องไปเที่ยว) เกมสายบริหารอย่าง Two Point Hospital ที่ต้องลงทุนสร้างโรงพยาบาล คิดต้นทุนกำไร หัดจ้างงานบุคลากร รู้จักการทำงานของหมอ พยาบาล การรักษาโรค ระบบโรงพยาบาล เกม Simcity ที่ทำให้เราเรียนรู้สาธารณูปโภคของเมืองอย่างการวางท่อ การสร้างถนน การจัดการรถติดในเมือง หรืออย่างเกม Perfect Coffee 3D ก็ให้เราสามารถเรียนรู้วิธีการชงการแฟ ส่วนผสม ปริมาณ วัตถุดิบได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องลงทุนกับของจริง
screen-shot gameplay เกม Builder Simulator ที่มีรายละเอียดอย่างที่วิศวกร/ผู้รับเหมาใช้จริง
5. คนสนใจเกมจริงๆมักจะตามทันเทคโนโลยี
ถ้าอยากเล่นเกมที่ต้องการก็ต้องมีอุปกรณ์รองรับระบบที่เหมาะ เกมเมอร์ส่วนใหญ่จึงต้องคอยอัปเดตอุปกรณ์เกมกันเสมอ ที่ไม่ได้หยุดแค่หน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนเท่านั้น ยังรวมไปถึงเกมมิ่งเกียร์อย่าง คอนโทรลเลอร์ ชุดหูฟัง คีย์บอร์ดเกมมิ่ง เก้าอี้เกมมิ่ง VR-AR ฯลฯ นอกจากจะตามทันเทคโนโลยีแล้ว ยังสามารถเข้าใจระบบและวิธีการทำงานของเทคโนโลยีใหม่ๆได้อย่างรวดเร็วที่ไม่เฉพาะแค่เกี่ยวกับเกมด้วย
6. เรียนรู้ข้อคิดจากเกมได้
เกมต่อสู้เป็นทีมที่ถ้าขาดคนใดคนหนึ่งแล้วทีมแพ้ เกมซิมูเลชั่นแบบต่อสู้ที่ถ้าเลือกไว้ชีวิตศัตรูจะทำให้เขากลับมาตอบแทนภายหลัง หรือเกมเลี้ยงสัตว์ที่ต้องคอยเข้ามาดูแลเอาใจใส่เสมอ ถ้าหากเลือกเกมดีๆก็อาจจะกลายเป็นข้อดีให้ผู้เล่นได้อย่างไม่รู้ตัว
7. เป็นหัวข้อในการสนทนาชั้นเยี่ยม
หากไม่รู้ว่าจะเริ่มบทสนทนายังไง การชวนเขาคุยเรื่องเกมที่ชอบ มีเกมสนุกอะไรแนะนำ หรือชวนเล่นเกมด้วยกันเป็นอะไรที่วินๆทั้งสองฝ่าย ถ้าฝ่ายตรงข้ามไม่เล่นเกมก็ชวนให้เขาได้คลายเครียดไปในตัว เปิดประสบการณ์เกมใหม่ๆร่วมกันทั้งของเขาและของเรา เป็นข้ออ้างในการทำกิจกรรมร่วมกัน หลายคนที่ไม่ถนัดเรื่องการสื่อสารแต่ถ้าเป็นเรื่องเกมนี่ตาโต เป็น Ice breaking ที่ดี คงจะดีกว่าการชวนคุยเรื่อง “แฟนของคุณเงินเดือนเท่าไร?” “เมื่อไรคุณจะแต่งงานสักที” “คุณจบอะไรทำงานอะไร?” ที่หลายคนก็รู้สึกอึดอัดเมื่อคนอื่นถาม
8. เทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในอนาคต
เด็กรุ่นใหม่ๆหลายคนเกิดมาพร้อมอินเตอร์เน็ต ในขณะที่รุ่นเก่ากว่านั้นยังแอบฝากจดหมายผ่านคนรู้จักเอาไปให้ ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าถ้าไม่ยอมให้ลูกหลานตามทันเทคโนโลยีเกม ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปกับเทคโนโลยีอย่างอื่นได้ เช่น การบังคับโดรน การจำลองการขับรถ การใช้ VR อนาคตลูกหลานเราอาจจะตามใครไม่ทัน คิดดูสิว่ามีรถที่สามารถขับเคลื่อนแบบ Autonomous แล้ว แต่คุณยังขับรถแบบเกียร์กระปุกอยู่หรือเปล่า?
ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นกับเกมที่เล่น ความสนใจ ความชื่นชอบ การจัดการที่เหมาะสมของทั้งตัวผู้เล่นหรือผู้ปกครองด้วย ใช่ว่าเกมทุกเกมจะมีข้อดี หรือมีแต่ข้อเสีย กลายเป็นการเอาแต่เสพติดเกมหรือเล่นเกมในทางไม่ดี และยังมีข้อดีอีกมากมายของเกมที่เราอาจจะยังไม่เห็น แต่ถ้าเล่นเกมอย่างมีสติ เราจะได้รับประสบการณ์ที่ดี รวมถึงเอาไปต่อยอดได้มากมายอีกด้วย