สารบัญ
ที่มาแบบคร่าวๆ
เกมบริหารโรงพยาบาล พัฒนาโดยสตูดิโอเกม Two Point ที่นำมาเป็นชื่อเกม Two Point Hospital ภายใต้ค่ายเกม SEGA เกมเปิดตัวในปี 2020 ประเภทเกมซิมูเลชั่น
แพลตฟอร์ม / ความต้องการระบบ
PC (Xbox) จะซื้อแยกหรือซื้อผ่าน Game Pass ก็ได้ หรือจะซื้อผ่าน Steam ก็ได้เช่นกัน
ความต้องการระบบที่รองรับ เรียกดูได้จากหน้า Detail ใน Xbox
เริ่มเกมต้องทำอะไรบ้าง?
เมื่อเราได้เริ่มเกม Two Point Hospital เราจะได้รับเงินทุนมาเพื่อมาก่อสร้างโรงพยาบาล โดยเงินทุนนี้จะไม่ได้มาลอยๆ พอสร้างโรงพยาบาลเสร็จอย่างแรกเลยเราจะมีเงินใน Balance แบบติดลบเพราะเราสร้างไปแล้วเนี่ยแหละ โดยห้องที่เราต้องสร้างก็จะมีห้องหรือแผนกหลักๆ เหมือนอย่างโรงพยาบาลจริงๆ คือ
แผนกหลักๆ ที่โรงพยาบาลมี
Reception = ประชาสัมพันธ์ (เป็นเคาน์เตอร์)
Staff room = ห้องพักบุคลากร
GP’s Office = ห้องตรวจทั่วไปหรืออายุรกรรม
Pharmacy = ห้องยา
Toilets = ห้องน้ำ
General Diagnosis = ห้องวินัยฉัยโรคทั่วไป
Ward = วอร์ดหรือหอพักผู้ป่วย
และคลินิคหรือแผนกเฉพาะทางอื่นๆ
ห้อง GP’s Office หรืออายุรกรรมทั่วไป
Ward หรือหอผู้ป่วยรวม
โดยเราจะต้องคิดให้ดีว่าแผนกไหนควรอยู่ตรงไหนของโรงพยาบาล คนที่นึกอะไรไม่ออกก็นึกถึงตอนเดินเข้าโรงพยาบาล เจอเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์เพื่อติดต่อก่อนจะเข้าห้องตรวจอายุรกรรม ต้องมีทางเดินและมีที่นั่งรอหน้าห้องตรวจ เป็นต้น ซึ่งหลักการจัดวางนอกจากจะจัดตาม flow การใช้งานของคนมาใช้บริการ = คนไข้ แล้ว เรายังต้องดูให้เหมาะสมกับ flow ของบุคลากรโรงพยาบาลคือเหล่า หมอ พยาบาล ช่างและแม่บ้านด้วย
แต่ละห้องก็จะมีขนาดขั้นต่ำในการสร้าง เช่น ห้องตรวจอายุรกรรมขั้นต่ำ 3×3 เพราะมีแค่หมอตรวจคนไข้ 1-1 วอร์ดมีขนาดอย่างต่ำ 4×3 เพราะจะต้องมีเตียง มีโต๊ะพยาบาลเวร เป็นต้น แต่ว่าเราสามารถสร้างใหญ่มากกว่านั้นได้ หรือเพิ่มของที่ไม่จำเป็นเข้าไปในห้องได้
หลังจากเสร็จสิ่งก่อสร้าง ต่อมาคือ Hire หรือจ้างบุคลากรของโรงพยาบาลนั่นเอง หลักๆในเกมจะมี
Doctors = หมอ
Nurses = พยาบาล
Assistances = ผู้ช่วย เช่นคนเฝ้าเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์
Janitors = พนักงานทำความสะอาดและช่าง
ซึ่งพวกเขาเหล่านี้เราก็ต้องลงทุนจ้างด้วยเงินเช่นกัน ในเกมจะมีให้เลือกว่าจะจ้างคนที่มีสกิลระดับไหน ยิ่งเก่งมากยิ่งค่าตัวแพง หมายถึงรายจ่ายก็เพิ่ม และบางห้องตรวจก็ต้องการบุคลากรที่มีสกิลเฉพาะด้านนั้นๆด้วย
โดยคนไข้และบุคลากรเป็นรูปแบบตัวซิม คือมีความรู้สึก ความสนุก ความต้องการ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับคนเหล่านี้ให้พร้อม เช่น คนไข้มีเก้าอี้นั่งรอเพียงพอ ถ้ารอคิวนานคนไข้ก็โมโหจนกลับหรือว่าตายคาโรงพยาบาลได้ หมอถ้ารักษาอยู่ในห้องนานๆพลังงานก็จะหมดจนต้องไปพักได้เช่นกัน
ทำอย่างไรให้โรงพยาบาลมีกำไร?
นอกจากจะรักษาคุณภาพการรักษาและความสุขของคนไข้จนตลอดรอดฝั่ง อย่าลืมว่าหน้าที่เราคือผู้บริหาร โรงพยาบาลต้องมีกำไรถึงจะไปต่อได้ โดยในเกมจะมีเมนูค่าใช้จ่ายที่เราต้องเข้าไปดู เพื่อดูว่าขณะนี้การเงินของโรงพยาบาลเป็นอย่างไร รวมถึงหากเปิดไปเปิดมารายได้น้อยกว่ารายจ่าย (ต้องเสียให้บุคลากรเรื่อยๆ) ก็สามารถเข้าไปกำหนดค่าเงินเพื่อลดรายจ่าย/เพิ่มรายรับเหล่านี้ได้ คือ
- เพิ่มราคาตรวจรักษา เกมตู้ ตู้กด คาเฟ่ จากเมนู PRICE
- ลดค่าจ้างบุคลากร จากเมนู STAFF
ซึ่งการกระทำเหล่านี้ต้องพิจารณาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย ลดเงินเดือนมากไปบุคลาก็ไม่แฮปปี้ก็จะทำงานไม่ดี รักษาไปคนไข้ตายไป เพิ่มค่ารักษาคนไข้ชื่อเสียงด้านดีเราก็จะน้อยลงด้วย คนไข้ที่มารักษาก็จะน้อยลงตาม เป็นต้น
สิ่งสำคัญ ที่ดูเหมือนไม่สำคัญ
1. ตำแหน่งของห้อง ทางเดิน
เกม Two Point Hospital ไม่ได้เหมือนเกม the Sims ที่วางห้องไหนตรงไหนก็ได้เพื่อความสวย เพื่อความพอใจของเราล้วนๆ เกมนี้คำนึงถึงเหตุผลตามจริงเลย หากไม่ compact หรือต้องเดินวนไปวนมานานๆ ก็คิดดูว่าเราถ้าไปรักษาโรงพยาบาลจริงๆจะชอบไหม ทั้งยังยืดเวลา ทำให้กว่าจะเดินถึงห้องตรวจคนไข้ได้ตายก่อน
2. ของตกแต่ง ตู้กด ตู้เกม
ของเหล่านี้ที่ในโรงพยาบาลจริงอาจจะไม่มี แต่ในเกมเราจะเอาตู้เกมไว้กลางทางเดินก็ได้ ในห้องตรวจมีโต๊ะกาแฟก็ได้ ยิ่งมีของเหล่านี้เยอะคนไข้จะไม่เบื่อ สนุก รอคิวตรวจรักษาได้นานขึ้น หมอพยาบาลก็เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยเช่นกัน อย่าคิดแต่ว่ามันเป็นเปลืองต้นทุนเปล่าๆล่ะ
วางตู้เกมไว้หน้าห้อง คนไข้จะได้ไม่เบื่อ
อย่าปล่อยบุคลากรเอ้อระเหยล่ะ
3. พวกเควสต์หรือคนตรวจ
ในเกมจะมีเควสต์จำพวก รับคนไข้เข้าวอร์ดทีละ 10 คน โดยเราสามารถเลือกจะรับไม่รับก็ได้ แต่ถ้าจะทำต้องดูว่าสิ่งอำนวยความสะดวกเราพร้อมด้วยหรือเปล่านะ รวมถึงคนตรวจที่จะเข้ามาทำทีเดินไปทั่วโรงพยาบาล
คนสองพวกนี้จะช่วยเพิ่มชื่อเสียงในด้านดีให้แก่โรงพยาบาลด้วย ภายหลังจะทำให้คนไข้เข้ามามากขึ้น รวมถึงเรายังสามารถเพิ่มค่ารักษาค่าต่างๆได้โดยคนไข้ไม่โกรธนักหนาอีกด้วย
4. โปรโมชั่นให้แก่เหล่าบุคลากร
ง่ายๆคือการเพิ่มค่าจ้าง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในห้องตรวจห้องพัก ถ้าคิดว่าไม่อยากเพิ่มเพราะกลัวค่าใช้จ่ายเพิ่มละก็ขอให้คิดอีกที เพราะในการเพิ่มเงินค่าจ้างตัวบุคลากรคนนั้นๆยังมีทักษะอย่างอื่นเพิ่มขึ้นลดลงด้วย เช่น อัตราการรักษาหายเพิ่ม คนไข้ชอบใจเพิ่ม เวลาพักเหนื่อยลดลง เป็นต้น
5. อย่าลืมปล่อยเกมจนไม่ดูว่าใครทำอะไร
เกมนี้ยิ่งละเอียดถี่ถ้วนยิ่งดี บางทีเราจะเห็นหมอพยาบาลเอ้อระเหยกันอยู่ในห้องพัก จนทำคนไข้รอคิวยาว ต้องคอยจับบุคลากรของเราไปอยู่ให้ถูกที่ถูกเวลาด้วย บางทีต้องสลับห้องทำงานด้วยก็มี หรือช่างน้อยไปจนไม่มีเวลาซ่อมเครื่องตรวจ จนอยู่ในสภาพไม่ดี ตรวจคนไข้ไม่ถูกจนตายก็มี
ใส่แอร์และมุมกาแฟในห้องตรวจด้วยซะเลย
คนไข้เควสต์จะมีไฟกระพริบเหนือหัว
นอกจากนี้ในเกม Two Point Hospital จะมีปุ่มฟิลเตอร์ที่ทำให้เราสามารถดูค่าต่างๆของซิมในโรงพยาบาลได้โดยที่ไม่ต้องนั่งไล่กดดูรายละเอียดทีละตัว อย่างเช่นค่าพวกความสุข จุดไหนของโรงพยาบาลที่ไม่มีของตกแต่ง คนไหนกำลังเบื่อ เครื่องไหนควรจะรีบได้รับการซ่อม เป็นต้น หากขยันกดดูก็จะลดจุดบอดไปได้เยอะ
ปุ่มเมนู “i” หรือ Information ล่างซ้ายจะช่วยใส่ฟิลเตอร์ให้เรามองหัวข้อต่างๆได้ง่ายขึ้น ในภาพดูอุปกรณ์ชิ้นไหนที่ต้องการซ่อมบ้าง
ภาพรวม
เกม Two Point Hospital นี้นอกจากจะสนุก ยังสอนให้เรารู้จักกับระบบ ระบบโรงพยาบาลจริงๆ แบบสายบริหารเลยทีเดียว แต่ถึงจะเป็นเกมซิมูเลชั่น แต่ก็มีความเป็นเกม idle อยู่พอสมควร แต่เป็นแบบที่มีเหตุมีผล ไม่ใช่แค่ลงทุนไปเรื่อย บางคนที่ไม่ถูกใจกับสายเกมแบบนี้อาจจะมองว่าน่าเบื่อ แต่สำหรับคนที่ชอบคือเรียกว่าได้มากกว่าความสนุก นอกจากจะได้เรียนรู้ระบบการบริหารโรงพยาบาลแล้ว ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของเหล่าคนในโรงพยาบาล ได้เรียนรู้เรื่องการรักษาโรคต่างๆ (แบบเบสิคมากๆ นะ) ได้อีกด้วย
โรงพยาบาลในเกม Two Point Hospital ก็ไม่ได้มีแห่งเดียวให้น่าเบื่อ หากเลเวลเราสูงขึ้น บริหารที่หนึ่งประสบความสำเร็จแล้ว เรายังสามารถปลดล็อคสถานที่แห่งใหม่ คนใหม่ๆ ห้องใหม่โรคใหม่ ถ้ายังเบื่ออีกเกมยังมีให้ซื้อเป็นแพ็คเกจเสริม เช่น ของตกแต่งมากขึ้น คนไข้แฟนซี (อาจจะต้องเสียเงินเพิ่มนะจ๊ะ) คล้ายๆเราซื้อแพ็คเสริมใน The Sims นั่นแหละ
อีกอย่างที่ในเกมคิดมาดีตรงที่เราต้องการเรียกดูภาพรวมต่างๆ จะสรุปมาให้โดยละเอียด เช่นสถิติการรักษา การเพิ่มอัตรา การเงิน ทำให้เรารู้ว่าเราควรจะปรับปรุงพัฒนาตรงไหน หรือโรงพยาบาลเติบโตไปขนาดไหนแล้ว โดยที่ไม่ใช่แค่มีประโยชน์ในเกม ยังสามารถนำไปปรับใช้กับระบบการทำงานจริงของเราได้ด้วย
เมนู Finance เห็นภาพรวมทางการเงินโรงพยาบาล
คนที่ไม่ชอบความละเอียด ต้องคอยตรวจดูทุกส่วนนั่นนี่อาจจะเห็นว่ายากและถอดใจได้ง่ายๆเช่นกัน แต่ถ้ารู้ระบบและจุดแก้ไข จะทำให้เรารู้แนวทางการพัฒนาและปรับปรุงไปได้เรื่อยๆ จะทำให้เล่นอย่างสนุกแน่นอน
นอกจากจะมี Two Point Hospital แล้วยังมี Two Point Campus ให้ไปทำความรู้จักกันอีกด้วย